top of page

Wider

26 ต.ค. 2564

IPPC และ ISPM15 อะไรคือ

อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention, IPPC)
เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการที่ประเทศภาคีลงนามให้สัตยาบันร่วมกันโดยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีผลบังคับใช้เป็นฉบับแรกใน พ.ศ. 2495

ซึ่งอนุสัญญา IPPC มีการปรังปรุงแก้ไขอีกหลายครั้งต่อมา และในปี พ.ศ. 2538 มีการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยมีผลให้เกิดการจัดระเบียบการค้าโลกขึ้นใหม่ และมีการจัดตั้ง The World Trade Organization (WTO) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยในส่วนของสินค้าเกษตรประเทศสมาชิก WTO ต้องตระหนักถึงความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ดังนั้นจึงมีการปรังปรุงแก้ไขสาระของอนุสัญญา IPPC ให้สอดคล้องกับ SPS ในปี 2540 ซึ่งอนุสัญญาที่ปรับปรุงแก้ไขมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน


วัตถุประสงค์ของ IPPC
คือ สร้างความมั่นใจต่อประสิทธิภาพการป้องกันการเข้ามาและเกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืช (แมลง โรคพืช วัชพืช) ที่ติดมากับพืช ผลิตผลจากพืช และวัสดุอื่นๆที่มีโอกาสเป็นพาหะของศัตรูพืช (วัสดุบรรจุภัณฑ์ ดิน เครื่องจักร และ อุปกรณ์) จากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งสนับสนุนมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมศัตรูพืชเหล่านั้น นอกจากนี้ IPPC ฉบับปัจจุบันได้ขยายให้มีการอารักขาพืชทุกชนิด ได้แก่ พืชปลูก พืชในสภาพธรรมชาติ (ป่าไม้) และ พืชน้ำ มีการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุอนามัยพืช (International Standard Phytosanitary Measures, ISPMs) เพื่อให้การดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยพืชของประเทศต่างๆมีความสอดคล้องกัน ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) มาตรฐาน ISPMs ที่ประกาศใช้แล้วมี 32 เรื่อง


บทบาทที่สำคัญของ IPPC
คือ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) อนุสัญญา IPPC มีประเทศภาคี 170 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย)ประเทศภาคีมีการประชุมปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISPMs) ด้านความช่วยเหลือทางวิชาการ ด้านการยุติข้อพิพาท และด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น

การบริหารงานภายใต้อนุสัญญา IPPC
1. คณะกรรมาธิการด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (Commission on Phytosanitary Measures, CPM) ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศภาคีประเทศละ 1 คน
2. สำนักคณะกรรมาธิการด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (CPM Bureau) ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับคัดเลือกจากประเทศภาคี IPPC 7 คน ที่มาจากแต่ละภูมิภาคของ FAO
3. สำนักเลขาธิการ IPPC (IPPC Secretariat) จัดตั้งจากบุคลากรภายใต้หน่วยงานอารักขาพืชของ FAO
4. คณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำแผนกลยุทธ์และความช่วยเหลือด้านวิชาการ (Informal Working Group on Strategic Planning and Technical Assistance) ประกอบด้วย CPM Bureau และผู้แทนจากประเทศภาคี IPPC
5. องค์กรอารักขาพืชระดับประเทศ (National Plant Protection Organization, NPPO) เป็นหน่วยงานที่ประเทศภาคีตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบหน้าที่ที่ระบุไว้ในอนุสัญญา IPPC
6. องค์กรอารักขาพืชระดับภูมิภาค (Regional Plant Protection Organization, RPPO) เป็นองค์กรระดับภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคกับสำนักเลขาธิการ IPPC ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญา IPPC

อ้างอิงจาก : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

bottom of page